INPS Japan
HomeLanguageThaiนักเคลื่อนไหวชาวมอริเตเนียเพื่อต่อต้านการค้าทาสและนักเคลื่อนไหวชาวอิหร่านด้านสิทธิสตรีได้รับมอบรางวัล

นักเคลื่อนไหวชาวมอริเตเนียเพื่อต่อต้านการค้าทาสและนักเคลื่อนไหวชาวอิหร่านด้านสิทธิสตรีได้รับมอบรางวัล

โดย เจมชิด บาเรือห์

กรุงเจนีวา (IDN) – นายบิรัม ดาห์ อาบิด เป็นทายาทของอดีตทาสที่ได้รับการขนานนามว่า “เนลสัน แมนเดลา แห่งมอริเตเนีย” และนางชาปารัก ชาจาริซาเดห์ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีชาวอิหร่านที่มีชื่อเสียงผู้ได้รับการยกย่องในความกล้าหาญต่อสู้กับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันแสนเลวร้าย

นายอาบิด ผู้ก่อตั้งโครงการริเริ่มเพื่อการฟื้นคืนการเคลื่อนไหวของผู้รณรงค์การเลิกทาส (IRA) ได้ระดมชาวมอริเตเนียหลายหมื่นคนเพื่อประท้วงการค้าทาส และความล้มเหลวของรัฐบาลในการใช้กฎหมายต่อต้านการค้าทาส

จากการประท้วงต่อเนื่อง การยึดพื้นที่ประท้วง การอดอาหารประท้วง การเดินขบวน และการเผยแพร่ข้อมูลทั้งในและต่างประเทศ นายอาบิด กดดันรัฐบาลเพื่อให้เจ้าของทาสรับผิดชอบต่อการก่ออาชญากรรมของตน และสร้างความตระหนักถึงโอกาสการเลิกทาสในมอริเตเนีย

เขาถูกรัฐบาลมอริเตเนียคุมขังหลายครั้งตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา กล่าวคือในเดือนธันวาคมปี 2553, ในปี 2555, ในปี 2557 ซึ่งเขาถูกคุมขังมากกว่าหนึ่งปีครึ่ง และล่าสุดในปี 2561 เป็นเวลาห้าเดือน

แม้ต้องเผชิญกับการคุกคามและการคุมขัง นายอาบิดก็ไม่ลดละที่จะส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายมอริเตเนียเรื่องการห้ามค้าทาส รวมทั้งปรับปรุงการบูรณาการทางสังคมและการดำรงชีวิตของอดีตทาสและสมาชิกคนอื่น ๆ ของประชากรชาวแอฟริกันผิวดำส่วนใหญ่ที่เผชิญกับการเลือกปฏิบัติ

ในปี 2560 นายอาบิดได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารไทม์ให้เป็นหนึ่งใน 100 บุคคลที่สำคัญที่สุดในโลก

ในขณะที่เขาได้รับรางวัล Geneva Summit Courage Award 2020 นางชาปารัก ชาจาริซาเดห์ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีชาวอิหร่านที่มีชื่อเสียงผู้ถูกจำคุก ทำร้าย และถูกทารุณเพียงเพราะการดึงผ้าโพกหัวออกในที่สาธารณะ เธอได้รับรางวัล International Women’s Rights Award จากงาน Geneva Summit 2020 ในงานเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ซึ่งรางวัลดังกล่าวนำเสนอโดยพันธมิตรระดับนานาชาติขององค์กรสิทธิมนุษยชน 25 แห่ง

“ตลอดช่วงศตวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลของประเทศนี้ขึ้นชื่อด้านการกดขี่ข่มเหง ทรมาน และคุมขังผู้คนที่อยู่อย่างสันติ ซึ่งอาชญากรรมเพียงอย่างเดียวที่ผู้คนเหล่านั้นก่อคือการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมและต่อต้านการเลือกปฏิบัติ” นายอาบิดกล่าว “ในนามของรัฐบาลและด้วยจิตวิญญาณความกล้าหาญ ผมรู้สึกนอบน้อมและปลื้มปีติยิ่งที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้”

นายฮิลเลล นอยเออร์ กรรมการบริหารองค์การสหประชาชาติวอทช์ ผู้ร่วมจัดการประชุมพร้อมด้วยสหพันธ์เสรีนิยมสากล มูลนิธิสิทธิมนุษยชน และกลุ่มสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ กว่า 20 กลุ่ม กล่าวว่านายอาบิดได้รับเลือกเพราะ “ความมุ่งมั่นใจกล้าต่อสู้กับการค้าทาสในมอริเตเนีย ปกป้องผู้ที่ตกเป็นเหยื่อหลายแสนคนโดยแลกด้วยเสรีภาพของเขาเอง”

ผู้ได้รับรางวัล Courage Award ก่อนหน้านี้ประกอบด้วย นายดอห์นดัพ หวังเชิน นักโทษการเมืองและผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ชาวทิเบต นายไรฟ์ บาดาวี บล็อกเกอร์ชาวซาอุดีอาระเบียที่ถูกคุมขัง นายอันโตนิโอ เลเดซมา ผู้นำฝ่ายค้านเวเนซุเอลา และนายวลาดิมีร์ คารา-มูร์ซา ผู้คัดค้านชาวรัสเซีย

ผู้ได้รับรางวัลสองคน ทั้งนายอาบิดและนางชาจาริซาเดห์ กล่าวขอบคุณนักการทูตแห่งสหประชาชาติ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน และนักข่าวจากทั่วโลกให้เข้าร่วมงาน Geneva Summit for Human Rights and Democracy ที่จัดขึ้นทุกปีเป็นครั้งที่ 12

นักเคลื่อนไหวชาวอิหร่านนี้กลายเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวอารยะขัดขืนที่เรียกว่า “เกิร์ล ออฟ เรโวลูชัน สตรีท” และ “ไวท์ เวดน์เดย์” เธอถูกจับกุมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 เนื่องจากไม่สวมฮิญาบ ซึ่งนั่นถือเป็นการไม่ยอมรับต่อกฎหมายที่อิหร่านบังคับใช้ ในปีนั้น นางชาจาริซาเดห์ได้รับการขนานนามจาก BBC ว่าเป็นหนึ่งในสตรี 100 คนผู้สร้างแรงบันดาลใจและมีบทบาทโน้มน้าวมากที่สุดในโลก

“ฉันรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลนี้” นางชาจาริซาเดห์กล่าว “ฉันมีกำลังใจมากขึ้นที่จะสานต่อการมีส่วนร่วมที่แม้จะเล็กน้อยเพื่อการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ ในนามของสตรีผู้กล้าชาวอิหร่าน รวมทั้งสตรีทุกคนทั่วโลกที่เสี่ยงชีวิตอยู่ทุกวันเพื่อยึดถือศักดิ์ศรีของตนเอง ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม และปกป้องสิทธิมนุษยชน”

นางชาจาริซาเดห์ได้รับเลือกเนื่องด้วย “การปกป้องสิทธิสตรีในอิหร่านอย่างกล้าหาญ ต่อการที่เธอถูกจำคุก ถูกทุบตี และถูกทารุณ” นายนอยเออร์กล่าว

ผู้ที่ได้รับรางวัลสิทธิสตรีสากลก่อนหน้านี้ ได้แก่ นางนิมโค อาลิ นักเคลื่อนไหวที่ต่อต้านการขริบอวัยวะเพศหญิง นางจูเลียนน์ ลูเซนจ์ นักเคลื่อนไหวชาวคองโกที่ต่อต้านการข่มขืน และนางเวียน ดักฮิล สมาชิกยาซิดิของรัฐสภาอิรัก

สำหรับการประชุมสุดยอดในกรุงเจนีวาครั้งที่ 12 นางชาจาริซาเดห์ได้เข้าร่วมกับผู้ได้รับรางวัลด้านสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ จากทั่วโลก ซึ่งรวมถึงผู้คัดค้าน นักเคลื่อนไหว เหยื่อ และญาติผู้ต้องขังทางการเมืองจากอิหร่าน จีน ปากีสถาน คิวบา รัสเซีย ตุรกี และเวเนซุเอลา ซึ่งล้วนคือผู้ที่จะเป็นพยานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศของตน

งานนี้จัดขึ้นเพียงไม่กี่วันก่อนการประชุมครั้งสำคัญประจำปีของคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการสถานการณ์เร่งด่วนในวาระการประชุมระดับโลก “เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่มุ่งเน้นสำหรับผู้คัดค้านทั่วโลก” นายนิวเออร์กล่าว [IDN-InDepthNews – 20 กุมภาพันธ์ 2563]

ภาพ: ภาพปะติดของนายบิรัม ดาห์ อาบิด จากมอริเตเนีย และนางชาปารัก ชาจาริซาเดห์ จากอิหร่าน

Most Popular