การวิเคราะห์โดย Kalinga Seneviratne
กรุงเทพฯ (IDN) – หน่วยงานหลักขององค์การสหประชาชาติซึ่งกำกับดูแลการพัฒนาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้เรียกร้องให้มีการปรับแนวคิดใหม่ครั้งใหญ่ต่อกระบวนทัศน์ในการพัฒนาในภูมิภาค
ใน ‘การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคม’ แห่งภูมิภาคที่ได้รับการนำเสนอไปยังเซสชั่นการประชุมครั้งที่ 72 ที่นี่ตั้งแต่วันที่ 17 ถึง 19 พฤษภาคม คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) กล่าวว่าในขณะที่ศูนย์กลางของแรงโน้มถ่วงของเศรษฐกิจโลกยังคงเคลื่อนไปทางตะวันออกอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะนี้ก็ได้เวลาแล้วที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะปรับใช้รูปแบบการพัฒนาที่พึ่งพิงต่อความต้องการภายในประเทศและในภูมิภาคให้มากยิ่งขึ้น
ESCAP โต้เถียงว่าการพึ่งพาต่อการพัฒนาซึ่งมีการส่งออกเป็นธุรกิจหลักเพียงอย่างเดียวต่อไปนั้นเป็นเรื่องที่ไร้ประโยชน์ และกำลังเรียกร้องให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมและการพัฒนาภาคเกษตรในชนบทมากขึ้น โดยทำการเชื่อมโยงระหว่างชนบท-เมืองให้ดียิ่งขึ้นผ่านทางการเชื่อมต่อด้านการขนส่งและการสื่อสาร
“เราสามารถตอบโต้กับความท้าทายเหล่านี้ได้เป็นบางส่วนผ่านทางการปรับปรุงการระดมทรัพยากรเมื่อมีศักยภาพในการจัดเก็บภาษีภูมิภาคที่ดีเยี่ยม ในการปลดปล่อยศักยภาพนี้ ประเทศจะจำเป็นต้องยกเลิกวันหยุดภาษีและการยกเว้นต่าง ๆ ซึ่งทำการบิดเบือนระบอบการลงทุน” เลขานุการผู้บริหารของ ESCAP ดร. Shamshad Akther กล่าวในการเปิดงาน
เธอชี้แจงว่า “การปรับใช้ระบบการจัดเก็บภาษีแบบก้าวหน้าจะช่วยในการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมกันและเพิ่มกระแสเงินโดยตรงไปยังการลงทุนที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น” และชี้ให้เห็นว่าภูมิภาคดังกล่าวมีศักยภาพเป็นอย่างดี “ในการเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมให้แข็งแกร่งเพื่อช่วยในการเข้าถึงเงินทุนสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน” เนื่องจากภูมิภาคดังกล่าวครอบครองสภาพคล่องทั่วโลกเกือบ 100 ล้านล้านดอลลาร์และกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติที่มีมูลค่าประมาณ 3 ล้านล้านดอลลาร์
รายงานดังกล่าวยังระบุว่าแนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้นมีเสถียรภาพในวงกว้าง และคาดการณ์ว่าการเติบโตโดยประมาณที่ร้อยละ 4.6 ในปีก่อนหน้าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็นร้อยละ 5 ในปี 2017
ESCAP กล่าวว่า เนื่องจากโอกาสการเติบโตซึ่งนำโดยการส่งออกนั้นไม่ชัดเจนเนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจในยุโรปและญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา นี่คือการเปลี่ยนกลยุทธ์การพัฒนาไปยังการเพิ่มความต้องการภายในประเทศและการผลิตซึ่งจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคของอนาคต
“หนึ่งในปัญหาพื้นฐานซึ่งเราเสนอขึ้นมาในการสำรวจของเราคือค่าแรงที่ต่ำ” Hamza Ali Malik หัวหน้าฝ่ายนโยบายและการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคของ ESCAP บอกกับ IDN-INPS ในการสัมภาษณ์ “หากภูมิภาคต้องการมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน มันจำเป็นต้องเพิ่มการผลิต (และ) คุณต้องการระดับการผลิตที่สูงเพื่อรองรับระดับค่าแรงที่แท้จริงที่สูงเช่นกัน”
ในการอภิปรายระดับสูงในการประชุมที่นี่ มีข้อตกลงในวงกว้างว่านโยบายทางการเงินได้ล้มเหลวและจำเป็นต้องมีการให้ความสำคัญต่อนโยบายการคลังในตอนนี้ โดยที่รัฐบาลใช้รายได้จากภาษีที่เพิ่มขึ้นเพื่อกระตุ้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจโดยการลงทุนในการพัฒนาด้านสาธารณสุข การศึกษาและโครงสร้างพื้นฐานซึ่งจะส่งเสริมการผลิตในระยะยาว
ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตหัวหน้าองค์กร UNCTAD ในเจนีวากล่าวว่า นโยบายการเงินนั้นใช้งานไม่ได้ในตอนนี้เนื่องด้วยการถดถอยของการค้าระหว่างประเทศ เอเชียจำเป็นต้องหนีจากโมเดลการพัฒนาที่มุ่งเน้นการส่งออกและแรงงานราคาถูก UNCTAD เป็นหน่วยงานสหประชาชาติซึ่งจัดการปัญหาด้านการพัฒนาโดยเฉพาะการค้าระหว่างประเทศ – ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการพัฒนา
ดร. ศุภชัยยังตั้งข้อสังเกตว่า “เรามักจะเพิกเฉยต่อด้านนโยบายรายได้ซึ่งได้รับการเน้นในรายงาน ESCAP นี้” “(พร้อมทั้งการเพิ่มการผลิต) เราจำเป็นต้องมองไปยังนโยบายรายได้ในเชิงรวม … เมื่อเราพูดถึงการเพิ่มการผลิต เราจำเป็นต้องมองวิธีการเปลี่ยนแปลงการผลิตเพื่อเพิ่มรายได้ มีหลากหลายประเทศที่สามารถเพิ่มระดับการผลิตได้สำเร็จแต่ระดับรายได้ยังคงตามหลังอยู่” เป็นที่ถกเถียงว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะสร้างฟองสบู่สินทรัพย์ แต่ไม่เพิ่มการบริโภคภายในประเทศ
Teuea Toatu รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศคิริบาสระบุว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งขับเคลื่อนโดยการพัฒนานั้นเป็นไปได้ และประเทศเกาะแปซิฟิกขนาดเล็กของเขาซึ่งห่างไกลออกไปได้สามารถแสดงให้เห็นว่ามันไม่ใช่ “ความฝันที่เป็นไปไม่ได้”
เขาอธิบายว่ารัฐบาลคิริบาสได้ตระหนักว่าจำเป็นต้องมีการพัฒนาความรู้และระดับทักษะของแรงงานขนาดเล็กของประเทศ และดังนั้นแล้ว ประเทศจึงได้ลงทุนในการศึกษาและบริการสาธารณสุข อีกทั้งยังได้เพิ่มราคาของเนื้อมะพร้าวแห้งซึ่งรัฐบาลซื้อจากเกษตรกรในชนบทเพื่อการส่งออกเป็นสองเท่า
“เศรษฐกิจในชนบทจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาผ่านทางนโยบายแบบรวม” กล่าวโดย Toatu “เงินอุดหนุนสำหรับการซื้อเนื้อมะพร้าวแห้งช่วยเพิ่มการผลิตและทำให้เกษตรกรชนบทยังอาศัยอยู่ในพื้นที่ของพวกเขาแทนที่จะย้ายถิ่นฐานไปยังเมือง”
ตามความคิดเห็นของคุณวิทวัส ศรีวิหค ปลัดกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทยแล้ว การเพิ่มความรู้ทางดิจิทัลโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักเรียนในโรงเรียนชนบทที่ห่างไกลเป็นนโยบายรัฐบาลที่สำคัญเพื่อให้ความรู้ของประชาชนสำหรับการเติบโตด้านการผลิตในอนาคต เขาอธิบายว่ารูปแบบ ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ของพระมหากษัตริย์ของประเทศไทยซึ่งได้รับการแนะนำต่อพื้นที่ชนบทนั้นอยู่บนพื้นฐานของ “การทำงานร่วมกันกับชุมชนท้องถิ่นเพื่อสร้างความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่นจากภายใน”
“ในเอเชียใต้ เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรขนาดเล็ก (และ) การเพิ่มการผลิตของพวกเขานั้นเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่” Arjun Bahadur Thapa เลขาธิการสมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคเอเชียใต้ (SAARC) กล่าวในการประชุม “เราจำเป็นต้องให้ความรู้และมอบเทคโนโลยีให้แก่เกษตรกรขนาดเล็กเพื่อเพิ่มการผลิต”
เขากล่าวเพิ่มอีกว่า ในการปรับใช้คำแนะนำจากแอฟริกาและลาตินอเมริกา SAARC ส่งเสริมการใช้ ‘วิทยุฟาร์ม’ เพื่อให้ความรู้ต่อเกษตรกร เพราะว่ามันเป็นวิธีการให้ความรู้ที่ราคาถูก และในขณะเดียวกันก็ได้ชี้ให้เห็นว่าสถาบันฝึกอบรมส่วนใหญ่นั้นตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เมือง
สำหรับ Malik แล้ว เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับปี 2030 ซึ่งองค์กรสหประชาชาติได้ส่งเสริมนั้นเกี่ยวกับการใช้วิธีการพัฒนาแบบองค์รวม “แทนที่จะบอกว่า ให้มีการเติบโต (ทางเศรษฐกิจ) ก่อนแล้วจัดการกับปัญหาสังคมหรือสิ่งแวดล้อมในภายหลัง สิ่งที่เราพูดตอนนี้คือ ไม่ เรามามองถึงข้อดีและข้อเสียของทั้งสามปัญหาในเวลาเดียวกัน” เขาชี้ว่า “มันเป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในวิธีการคิดเกี่ยวกับการพัฒนา”
“มันเป็นการขยับออกห่างจากการมุ่งเน้นด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือการผลิตเพียงเท่านั้น และเป็นการแสดงออกว่าความเป็นอยู่ของมนุษย์นั้นสำคัญยิ่งกว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจ” Malik กล่าว “ใช่แล้ว มัน (การเติบโตทางเศรษฐกิจ) นั้นสำคัญสำหรับเราแต่มันไม่ใช่เรื่องราวทั้งหมด นี่คือสิ่งที่องค์กรสหประชาชาติทั้งระบบกำลังใฝ่หาตอนนี้” [IDN-InDepthNews – 19 พฤษภาคม 2016]