INPS Japan
HomeLanguageThaiการรณรงค์ของสหประชาชาติเพื่อให้วัคซีนเป็นทรัพยากรสาธารณะระดับโลก

การรณรงค์ของสหประชาชาติเพื่อให้วัคซีนเป็นทรัพยากรสาธารณะระดับโลก

โดย J Nastranis

นิวยอร์ก (IDN) – งานวิจัยใหม่ได้เตือนถึงแนวโน้มในการเติบโตของ “ชาตินิยมวัคซีน” กล่าวคือประเทศต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับความต้องการวัคซีนของตนเองเป็นหลัก การศึกษาเตือนว่าเมื่อมีการผูกขาดการจัดหาวัคซีนป้องกันการระบาดของ Covid-19 ประเทศที่ร่ำรวยกำลังคุกคามการทำลายล้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทั้งประเทศที่ร่ำรวยและประเทศที่กำลังพัฒนา

แม้ว่าประเทศที่ร่ำรวยจะได้รับการฉีดวัคซีนอย่างสมบูรณ์ภายในกลางปีนี้และประเทศยากจนส่วนใหญ่ยังถูกปิดกั้น แต่การศึกษาสรุปว่าเศรษฐกิจโลกจะสูญเสียมากกว่า 9 ล้านล้านดอลลาร์ และนี่เป็นค่ารวมที่มากกว่าผลผลิตต่อปีของญี่ปุ่นและเยอรมนีรวมกัน เกือบครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะได้รับการรองรับโดยประเทศที่ร่ำรวย เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา และอังกฤษ

การศึกษาใหม่อีกชิ้นหนึ่งได้เตือนว่าลัทธิชาตินิยมของวัคซีนอาจนำไปสู่การจัดสรรวัคซีน COVID-19 ที่ไม่เท่าเทียมกันและทำให้เศรษฐกิจโลกเสียหายในมูลค่าสูงถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีในแง่ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เหตุผลก็คือ แม้ว่าบางประเทศจะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชากรของตนจากไวรัสได้ แต่ตราบใดที่ไวรัสไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมในทุกภูมิภาคของโลก ต้นทุนทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดนั้นก็ยังจะสูงอยู่ดี

“ต้นทุนทั่วโลกที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจอาจอยู่ที่ 3.4 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี สำหรับสหภาพยุโรปจะอยู่ที่ประมาณ 5.6 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ต่อปี ซึ่งก็คือประมาณ 983 พันล้านดอลลาร์ การสูญเสียที่เกิดขึ้นโดยสหราชอาณาจักรจะอยู่ที่ประมาณ 4.3 เปอร์เซ็นต์ซึ่งเป็นความสูญเสียต่อปีประมาณ 145 พันล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ จะสูญเสีย GDP ประมาณ 2.2% ต่อปีซึ่งก็คือประมาณ 480 พันล้านดอลลาร์” ผู้เขียนจากการศึกษาของ Rand Corporation กล่าว

แม้ว่าพฤติกรรมชาตินิยมจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็มีแรงจูงใจทางเศรษฐกิจสำหรับการเข้าถึงวัคซีนทั่วโลก จากการประมาณการก่อนหน้านี้ การศึกษาชี้ให้เห็นว่าจะต้องใช้เงิน 25 พันล้านดอลลาร์ในการจัดหาวัคซีนให้กับประเทศที่มีรายได้ต่ำ

เมื่อนับรวมกันแล้ว สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป และประเทศที่มีรายได้สูงอื่น ๆ อาจสูญเสียเงินประมาณ 119 พันล้านดอลลาร์ต่อปีหากประเทศที่ยากจนที่สุดถูกปฏิเสธวัคซีน “หากประเทศที่มีรายได้สูงเหล่านี้จ่ายเงินสำหรับการจัดหาวัคซีน เช่นนั้นแล้วอาจมีอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุนอยู่ที่ 4.8 ต่อ 1 สำหรับทุก ๆ 1 ดอลลาร์ที่ใช้ไป ประเทศที่มีรายได้สูงจะได้รับเงินคืนประมาณ 4.8 ดอลลาร์” รายงานกล่าว

ตัวเลขเหล่านี้ช่างมีค่าเป็นอย่างยิ่ง แต่รองเลขาธิการสหประชาชาติ Amina J. Mohammed กล่าวว่า: “ในช่วงปีที่ผ่านมา เราทุกคนพลาดที่จะทำกิจกรรมที่เราชอบทำร่วมกับคนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทานอาหารด้วยกัน การกอด การไปโรงเรียนและไปทำงาน”

ในขณะเดียวกัน พวกเราหลายล้านคนต้องสูญเสียคนที่เรารักหรือถูกพรากชีวิตความเป็นอยู่ไป จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่ามีผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 มากกว่า 2.5 ล้านคนทั่วโลก วัคซีนป้องกัน COVID-19 จะหยุดยั้งไม่ให้ผู้คนเสียชีวิต ป้องกันไม่ให้เกิดไวรัสประเภทใหม่ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และให้ความหวังที่ดีที่สุดในการยุติการแพร่ระบาด

“มีเพียงเราเท่านั้นที่จะยุติการแพร่ระบาดและเปลี่ยนศักราชใหม่แห่งความหวังได้” รองหัวหน้าองค์การสหประชาชาติกล่าว ด้วยเหตุนี้ องค์การสหประชาชาติจึงได้เปิดตัวแคมเปญระดับโลกใหม่ที่มีชื่อว่า Only Together เพื่อสนับสนุนการเรียกร้องให้เข้าถึงวัคซีน COVID-19 ทั่วโลกอย่างยุติธรรมและเท่าเทียมกัน

แคมเปญดังกล่าวเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการดำเนินการร่วมกันทั่วโลกเพื่อให้แน่ใจว่าวัคซีนสามารถเข้าถึงได้ในทุกประเทศโดยเริ่มจากเจ้าหน้าที่ดูแลสุขภาพและผู้คนในกลุ่มเสี่ยงที่สุด

คุณ Mohammed ชี้ให้เห็นว่าความพยายามทางวิทยาศาสตร์ทั่วโลกสำหรับวัคซีนทำให้เรามีความหวังที่จะเอาชนะไวรัสได้อย่างแท้จริง ในความเป็นจริงแล้ว ทั่วโลกกำลังทำการฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมีการส่งวัคซีนหลายล้านโดสทั่วโลก รวมถึงบางประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกผ่านทางความพยายามของ COVAX ซึ่งเป็นกลไกความเท่าเทียมกันของวัคซีนทั่วโลก

António Guterres เลขาธิการสหประชาชาติได้เปิดตัวโครงการดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พร้อมกับได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการที่ “ไม่กี่ประเทศที่ร่ำรวยกำลังได้รับการฉีดในปริมาณมาก” เขาย้ำว่า “วัคซีน COVID-19 ต้องถือเป็นทรัพยากรของประชาชนทั่วโลก”

วัคซีน COVID19 ควรมีให้สำหรับ “ทุกคนในทุกที่” เขากล่าวเสริมว่าวิกฤตการณ์ในปีนี้ก่อให้เกิดคลื่นแห่งความทุกข์ทรมาน “#OnlyTogether มีเพียงเราทุกคนเท่านั้นที่จะยุติการระบาดนี้และกลับไปหาสิ่งที่เรารักได้”

ตามสถานการณ์ปัจจุบัน ในขั้นต้น จำนวนยาในปัจจุบันจะครอบคลุมประชากรเพียงกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น ได้แก่ ผู้ปฏิบัติงานด้านการดูแลสุขภาพและกลุ่มที่เปราะบางที่สุด ดังนั้นภายในสิ้นปี 2021 COVAX จึงมีแผนเสนอวัคซีนให้เกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ของประชากรแต่ละประเทศที่เข้าร่วม แต่ความก้าวหน้าดังกล่าวดูจะน้อยนิดเมื่อเทียบกับประเทศร่ำรวยสิบประเทศที่มีวัคซีนป้องกันไวรัส COVID-19 อยู่เกือบร้อยละ 80 โดยมีบางประเทศวางแผนที่จะฉีดวัคซีนให้กับประชากรทั้งหมดภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า

มี 190 ประเทศที่เข้าร่วมใน COVAX ซึ่งนำโดยองค์การอนามัยโลก GAVI และ Coalition for Epidemic Preparedness Innovations (CEPI) และเป็นพันธมิตรกับ UNICEF ต้องใช้เงินมากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการฉีดวัคซีนต่อผู้ที่ต้องการมากที่สุดภายในสิ้นปีนี้

องค์การสหประชาชาติมีความเห็นว่าการให้คำมั่นว่าจะระดมทุนใหม่สำหรับ COVAX นั้นเป็นสิ่งสำคัญ แต่เราสามารถทำได้ดีกว่านี้ในการขยายการเข้าถึงวัคซีนโดยการแบ่งปันวัคซีนส่วนเกิน การถ่ายทอดเทคโนโลยี การเสนอการออกใบอนุญาตโดยสมัครใจ หรือแม้แต่การสละสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา

“หากนักวิทยาศาสตร์ของโลกสามารถพัฒนาวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพได้ในเวลาเพียง 7 เดือน เป้าหมายของผู้นำโลกก็ต้องทำลายสถิติไม่แพ้กัน พวกเขาควรจัดหาเงินทุนให้เพียงพอและเพิ่มการผลิตเพื่อให้ทุกคนบนโลกได้รับวัคซีน” กล่าวโดย Melissa Fleming เลขาธิการสหประชาชาติด้านการสื่อสารระดับโลก [IDN-InDepthNews – 12 มีนาคม 2021]

ภาพ: เข็มฉีดยาถูกประกอบแล้วบรรจุในโรงงานในสเปน © UNICEF/Francis Kokoroko

Most Popular