โดย ปัทมา วิไลเลิศ
จังหวัดศรีสะเกษ ประเทศไทย (IDN) — เนื่องจากการล็อกดาวน์จากโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง คนงานจำนวนมากในกรุงเทพฯ และเมืองธุรกิจสำคัญอื่น ๆ เช่น พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ และสมุทรปราการต่างแห่กันกลับไปยังบ้านเกิด พวกเขาถูกบังคับให้แสวงหาหนทางที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ และตระหนักถึงเหตุผลของการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนในระยะยาว
ในประเทศไทย เป็นเรื่องปกติที่จะเห็นฆราวาสไปตักบาตรในตอนเช้าทั่วประเทศเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการทำบุญก่อนเริ่มวันใหม่ อย่างไรก็ตาม ในช่วงการระบาดของโควิด-19 พระสงฆ์บางรูปกลับมีบทบาทในการทำบุญ
ที่วัดบ้านท่าคอยนาง พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส เจ้าอาวาสและผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศึกษานานาชาติ (IBSC) มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้แปลงคำสอนที่ไม่มีวันตกยุคของพระพุทธเจ้าให้เป็นงานพัฒนาชุมชนของ ‘หมู่บ้านสันติสุข’ (โคกหนองนา)
“หมู่บ้านสันติสุขมาจากคำสอนของพระพุทธเจ้าสี่ข้อเกี่ยวกับพัฒนาการทางร่างกาย สังคม จิตใจ และสติปัญญา และอาตมาได้เปลี่ยนให้มันเป็นกลยุทธ์ของเราในการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง” พระมหาหรรษาบอกกับ IDN “ปัญหาแรกในหมู่บ้านคือความยากจน (และ) เราจำเป็นต้องสร้างอาชีพที่ยั่งยืน (เพื่อจัดการกับปัญหานี้) ถ้าคนยังยากจน เราจะพัฒนาความสงบสุขในหมู่บ้านได้อย่างไรกัน” ท่านถาม “อาตมาจึงนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาพัฒนาต้นแบบโคกหนองนา”
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงแนะนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเมื่อประเทศไทยเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 มีใจความหลักสามประการที่เป็นพื้นฐานของแบบจำลองทางเศรษฐกิจนี้ ได้แก่ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการสร้างภูมิคุ้มกันในตนเอง ทั้งสามข้อนี้มีพื้นฐานมาจากปรัชญาพุทธศาสนา ตามปรัชญาที่เป็นทางการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สำหรับการสร้างภูมิคุ้มกันในตนเอง จะต้องมีสี่ด้านที่ทุกคนควรพยายามบรรลุ ได้แก่ ภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงในสภาวการณ์ทางวัตถุ ภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม และภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม
ในการอธิบายการนำคำสอนทางพุทธศาสนาเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้กับหมู่บ้านของท่าน พระมหาหรรษาอธิบายว่าสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญ “หลายคนพยายามใช้ที่ดินในทางที่ผิด อาตมาจึงบอกให้พวกเขาปฏิบัติตามศีล ๕ (ปัญจศีล) เน้นย้ำศีลข้อที่ ๒ ห้ามขโมย ไม่คดโกง แล้วทุกอย่างจะสำเร็จด้วยดี” ท่านกล่าวอย่างมีความสุข “สุดท้ายแล้ว ความเป็นอยู่ที่ดีของชาวบ้าน (ก็มีความสำคัญเพราะ) คนชราในหมู่บ้านมีปัญหาสุขภาพมากมาย อาตมาจึงพานักศึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจากกรุงเทพฯ มาอบรมพวกเขาเรื่องการดูแลตัวเอง นอกจากนี้ ในช่วงเวลาอันยากลำบากของการปิดบ้านเมืองจากโควิด-19 อาตมายังได้ช่วยชาวศรีสะเกษและชาวจังหวัดใกล้เคียงจำนวนมากที่เดินทางกลับเข้ามาตั้งรกรากในบ้านเกิดของพวกเขา”
ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า ตั้งแต่การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกแรก (ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2020) คนงาน 2 ล้านคนย้ายเข้าและออกจากเมือง ในช่วงปลายปี 2020 มีผู้คนกว่า 200,000 คนต่อเดือนเคลื่อนย้ายที่อยู่ โดยส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 21-60 ปี (80%) และมากกว่าครึ่งเป็นผู้มีรายได้น้อย
แรงงานที่ถูกเลิกจ้างซึ่งอพยพออกจากกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เช่น เมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น ภูเก็ต และเชียงใหม่ นั้นมีจำนวนมาก คนงานเหล่านี้ไม่สามารถแบกรับค่าครองชีพในเมืองใหญ่ได้ จึงตัดสินใจกลับบ้านเกิด
คุณบัวใจ แรงงานต่างด้าวที่มีพื้นเพมาจากบ้านท่าคอยนาง จังหวัดศรีสะเกษ ก็มีชะตากรรมเช่นเดียวกัน ก่อนเกิดการระบาด เธอเคยอาศัยอยู่บริเวณกรุงเทพฯ และทำงานเป็นช่างเย็บผ้าในโรงงานเล็ก ๆ มาเป็นเวลากว่า 30 ปี “ในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ช่วงโควิด-19 ระลอกแรก ฉันเห็นผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น และต่อมาในเดือนเมษายน สถานการณ์ก็แย่ลง ฉันจึงวางแผนจะย้ายกลับไปศรีสะเกษเป็นการถาวร เมื่อปลายปี 2020 ฉันจึงมาตั้งรกรากที่บ้านท่าคอยนาง บ้านเกิดของฉันเอง” เธอบอกกับ IDN
ในคลื่นลูกแรกและลูกที่สองของการระบาด (ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ถึงมกราคม 2021) มีเตียงในโรงพยาบาลเพียงพอเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 แต่สำหรับคลื่นลูกที่ 3 ตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน 2021 โรงพยาบาลในชุมชนและเมืองทำได้เพียงให้การรักษาและการดูแลทางการแพทย์โดยตรงแก่ผู้ป่วยโควิด-19 เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมถึงกลางเดือนสิงหาคม 2021 จำนวนผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 15,000 รายเป็น 22,000 รายต่อวัน ตามรายงานของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (CCSA) ผู้ติดเชื้อสูงสุดอยู่ในกรุงเทพฯ และเมืองธุรกิจสำคัญ เช่น สมุทรสาคร ชลบุรี และสมุทรปราการ เมื่อจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น เหตุการณ์การขาดแคลนเตียงก็ได้เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และในเมืองหลัก ผู้ที่ได้รับผลกระทบต้องกลับไปบ้านเกิดเพื่อรับการรักษาและกักตัว
“ที่บ้านท่าคอยนาง ศรีสะเกษ ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม 2021 ลูกชายและลูกสาวของชาวศรีสะเกษต้องการกลับมาที่หมู่บ้าน อาตมาเตือนพวกเขาให้กักตัวอยู่ในวัดป่าของเรา นอกจากนี้ อาตมาร่วมกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลเพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลภาคสนาม โดยโรงพยาบาลแห่งแรกรองรับได้ 35 คน ขณะที่โรงพยาบาลที่สองรองรับได้ 100 คน” พระมหาหรรษาอธิบาย
“คนที่รู้กิจกรรมนี้โทรมาหาอาตมาจากจังหวัดสมุทรสาคร อยุธยา สมุทรปราการ และจังหวัดอื่น ๆ แล้วถามว่าจะมากักตัวและรักษาที่นี่ได้ไหม อาตมาบอกให้พวกเขาทำอย่างนั้น และในบางกรณี อาตมาก็ส่งรถตู้ไปรับพวกเขา จนถึงตอนนี้อาตมาได้ช่วยเหลือผู้คนไปแล้วราว 1,400 คน”
นอกจากการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามแล้ว พระมหาหรรษายังเป็นจุดศูนย์รวมของหน่วยงานสาธารณสุขอำเภอและสาธารณสุขในการสื่อสารกับชาวบ้านและผู้ติดเชื้อ ท่านทำการถ่ายทอดสดบน Facebook กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแจ้งให้ผู้คนทราบเกี่ยวกับการเข้าถึงการรักษาอย่างต่อเนื่อง ระเบียบการกักตัว และอื่น ๆ
การรักษาและการกักตัวไม่ได้เป็นเพียงผลงานเดียวของพระมหาหรรษาเท่านั้น “นอกจากจะให้อาหารและน้ำแก่พวกเขาเป็นเวลา 2 เดือน เรายังมีโคกหนองนาที่พวกเขาสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับการเกษตร ปลูกผักอินทรีย์ และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และในระยะยาวพวกเขาจะสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน” นอกจากนี้ ท่านยังเสริมอีกว่า แม้ว่าการกักตัวและการรักษาจะสิ้นสุดลง แต่การเกษตรของโคกหนองนายังคงดำเนินต่อไป
ลูกหลานชาวบ้านที่ทำงานในกรุงเทพฯ และต้องการกลับบ้านเกิดในอนาคตได้แสดงความสนใจที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับการเกษตรในโคกหนองนา พระมหาหรรษาสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกหลานชาวบ้านผ่านแอปพลิเคชัน Facebook และ Line ตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป บางคนจะกลับมาเรียนรู้การทำการเกษตรให้มีชีวิตที่ยั่งยืนในระยะยาว เนื่องจากโควิด-19 ได้สอนให้พวกเขารู้ถึงความไม่เที่ยงของชีวิต ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของพระพุทธศาสนา และปรัชญาการสร้างภูมิคุ้มกันในตนเองได้รับการออกแบบมาเพื่อบรรเทาผลกระทบด้านลบเช่นนี้นั่นเอง
คุณมาลินี อดีตผู้ใหญ่บ้านท่าคอยนางได้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ริเริ่มโดยพระมหาหรรษา “งานของหลวงพ่อทำให้ฉันได้ทำงานใกล้ชิดกับชาวบ้าน ตำบล และอำเภอ ฉันได้รับความร่วมมือจากพวกเขาทั้งหมด พระมหาหรรษาจัดการกับต้นเหตุของปัญหาในหมู่บ้านโดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โคกหนองนาลดรายจ่ายพร้อมเพิ่มรายได้ครัวเรือนมากขึ้น และที่สวนสันติภาพของท่าน ชาวบ้านยังมาทำสมาธิกันตั้งแต่ 17.00-18.00 น. ทุกวัน ชาวบ้านเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสามัคคี” เธอบอกกับ IDN
มูลนิธิพัฒนาท้องถิ่นของประเทศไทยชี้ว่าการย้ายถิ่นฐานกลับไปบ้านเกิดไม่ค่อยส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารในครัวเรือน เนื่องจากประชาชนสามารถเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติและผลผลิตทางการเกษตรได้ อย่างไรก็ตาม 76% ของครัวเรือนเกษตรกรรมไทยได้พึ่งพารายได้อื่น ๆ นอกภาคเกษตร กระแสแรงงานอพยพในเมืองที่เดินทางกลับหมู่บ้านในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังเป็นโอกาสในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในภาคเกษตรกรรม อันเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของประเทศไทย
หมู่บ้านโคกหนองนาที่พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ดำเนินการนั้นได้วางรากฐานสองประการสำหรับแรงงานอพยพในเมืองและชาวบ้าน เพื่อให้พวกเขาอยู่ได้อย่างยั่งยืน สามารถตอบสนองความต้องการทางร่างกายพร้อมกับการเติมเต็มจิตใจด้วยธรรมะ (คำสอนของพระพุทธศาสนา) รูปแบบของท่านได้สะท้อนให้เห็นถึงการประยุกต์ใช้คำสอนทางศาสนาในทางปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
“ธรรมะไม่ได้อยู่ที่อื่นใดเลย มันอยู่ในนาข้าวและสวน ที่ใดที่เราตัดสินใจทำนา ธรรมะก็จะปรากฏให้เห็น ให้เราเรียนรู้ ดังนั้นเราจึงตระหนักว่าร่างกายของเราประกอบด้วยธาตุดิน น้ำ ไฟ และลม” พระมหาหรรษากล่าว “ขณะทำงานในสวน เราต้องมีสติและสมาธิกับสิ่งที่เราทำ รวมถึงการหาวิธีจัดการที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย (อย่างยั่งยืน) แม้จะยาก แต่ก็ต้องอดทน”
พระภิกษุผู้แสนกระฉับกระเฉงซึ่งพูดภาษาอังกฤษได้คล่องและเป็นปราชญ์ชาวพุทธที่มีชื่อเสียงในประเทศไทยรูปนี้ทราบว่าชาวนาในหมู่บ้านอาจไม่รู้จักศัพท์เฉพาะทางธรรมะเท่าใดนัก “ธรรมะ (กฎแห่งธรรมชาติ) มีอยู่ (ทุกที่) และรวมถึง (การปฏิบัติ) ความอดทน สติ ปัญญา สมาธิ และความพยายาม” พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส กล่าว [IDN-InDepthNews – 02 พฤศจิกายน 2021]
รูปภาพ: พระมหาหรรษากับชาวบ้านโคกหนองนา