โดย ปัทมา วิไลเลิศ
กรุงเทพฯ 20 เมษายน 2566 (IDN) — การเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุในประเทศไทยและเกษตรกรที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ทำให้พรรคการเมืองไทยเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม ด้วยการเสนอนโยบายประชานิยมเพื่อแสวงหาคะแนนเสียงจากประชากรทั้งสองกลุ่มนี้
ประชาชนไทยกว่า 52 ล้านคนมีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คน และจากการหาเสียงเลือกตั้งที่มีมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 พรรคการเมืองได้ประกาศนโยบายที่น่าสนใจมากมายเพื่อช่วงชิงคะแนนเสียง ซึ่งรวมถึงเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สวัสดิการสำหรับแม่และเด็ก และกองทุนเพื่อสนับสนุนภาคการเกษตร
ในการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมีขึ้น มีผู้สูงอายุจำนวนมากกว่า 12 ล้านคน ทั้งนี้ นายกสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และรองประธานคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ได้ยืนยันว่า “พ.ศ. 2565 เป็นปีที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว” กล่าวคือ ประมาณ 20% ของประชากรทั้งหมดมีอายุมากกว่า 60 ปี
นอกจากนี้ ข้อมูลในบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ (NTA) ประมาณการว่า หลังจากหักค่าใช้จ่ายเพื่อดูแลบุตรในวัยเรียนและผู้สูงอายุแล้ว คนไทยจะต้องมีเงินออมประมาณ 7.7 ล้านบาท (ประมาณ 225,000 เหรียญสหรัฐ) สำหรับวัยเกษียณ หากจะมีชีวิตอยู่จนถึงอายุ 90 ปี ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่มากเมื่อเทียบกับรายได้ค่าจ้างของคนไทย
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ระบุว่า ครัวเรือนเกษตรกรมีรายได้น้อย และเกษตรกร 42% มีรายได้ไม่พอใช้เพราะต้องชำระหนี้และมีเงินไม่พอที่จะลงทุนปลูกพืชในรอบต่อไป ปัจจุบัน 90% ของครัวเรือนเกษตรกรไทยเป็นหนี้ เฉลี่ย 450,000 บาท (USD 14,000) ต่อครัวเรือน
เกษตรกรกู้ยืมเงินจากหลากหลายแหล่ง โดยมีสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI) เป็นแหล่งเงินกู้หลัก (65%) ตามมาด้วยกองทุนหมู่บ้าน สินเชื่อเพื่อการค้า ญาติ นักลงทุน บริษัทเช่า และสหกรณ์ออมทรัพย์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เปิดเผยว่า จำนวนผู้กู้สูงอายุมีประมาณ 1.4 ล้านราย ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเกษตรกร
จากสภาวะการณ์ดังกล่าว พรรคการเมืองใหญ่ทั้งสี่พรรคได้เสนอนโยบายของพรรคสำหรับการเลือกตั้ง ดังนี้
พรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งมี พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตเลขาธิการของรักษาการนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า พรรครวมไทยสร้างชาติ เสนอนโยบาย “บัตรสวัสดิการพลัส” ที่ผู้สูงอายุจะได้รับเบี้ยยังชีพ 1,000 บาท (30 เหรียญสหรัฐ) ต่อเดือน และพรรคจะจัดตั้ง “กองทุนพยุงราคาสินค้าเกษตร ข้าวและยางพารา” และ “กองทุนฉุกเฉินประชาชน” ในวงเงิน 30,000 ล้านบาท (872 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อให้ประชาชนกู้ยืมและใช้จ่ายในการดำรงชีวิต
พรรคเพื่อไทย ก่อตั้งโดยอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร และปัจจุบันนำโดยบุตรสาว แพทองธาร ชินวัตร ระบุว่า จะนำเทคโนโลยีที่มีความแม่นยำมาใช้ปรับปรุงผลผลิตและพืชผลการเกษตร รวมทั้งหาตลาดใหม่ให้กับสินค้าเกษตร และจะมอบเงินดิจิทัล 10,000 บาท (290 เหรียญสหรัฐ) ให้แก่คนไทยอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป และพักชำระหนี้เกษตรกรเป็นเวลา 3 ปี
พรรคก้าวไกล นำโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านอิทธิพลของรัฐบาลทหาร เสนอว่า จะให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 3,000 บาท (87 เหรียญสหรัฐ) และจัดตั้งกองทุนพิสูจน์สิทธิ 10,000 ล้านบาท (0.29 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อยุติข้อพิพาทเรื่องที่ดินและออกเอกสารสิทธิให้เกษตรกร
พรรคพลังประชารัฐ นำโดย รักษาการรองนายกฯ ประวิตร วงษ์สุวรรณ เสนอว่า ผู้ที่มีอายุ 60 ปีจะได้รับเบี้ยยังชีพ 3,000 บาทต่อเดือน (87 เหรียญสหรัฐ) อายุ 70 ปีจะได้รับ 4,000 บาท (116 เหรียญสหรัฐ) และผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปจะได้รับ 5,000 บาท (145 เหรียญสหรัฐ) ต่อเดือน
เมื่อการเลือกตั้งทั่วไปใกล้เข้ามา พรรคส่วนใหญ่มักจะดึงดูดผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วยนโยบายแจกเงินสดและเงินดิจิทัล แต่นักเศรษฐศาสตร์ก็ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการใช้งบประมาณที่เพิ่มขึ้นมากเกินไปหลังการเลือกตั้ง
ในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศราที่ผ่านมา ดร.นณริฎ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า “หากเราต้องจ่ายเบี้ยยังชีพ 3,000 บาทให้กับผู้สูงอายุที่ปัจจุบันมีจำนวน 12 ล้านคน หมายถึงเราต้องจ่ายเงิน 36,000 ล้าน (1 ล้านเหรียญสหรัฐ) ต่อเดือน”
ดร.นณริฎ พิศลยบุตร ยังกล่าวเสริมอีกว่าในอีก 5-10 ปี จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น 20 ล้านคน “แม้ว่า เราจะสามารถกู้ยืมเงินเพื่อนำมาใช้ในโครงการเหล่านี้ได้ แต่เราก็ต้องเพิ่มวงเงินสินเชื่อต่อไป ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาระทางการคลัง” เขาเตือน
นอกจากนี้ นายดนุชา พิชญานันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ยังได้แสดงความกังวลถึงนโยบายการพักหนี้ที่พรรคการเมืองประกาศออกมา เขากล่าวว่า “การพักชำระหนี้ไม่ได้ทำให้หนี้หมดไป และสุดท้ายก็ต้องจ่ายหนี้อยู่ดี การพักหนี้และพักดอกเบี้ยส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังสถาบันการเงินที่เป็นเสาหลักของเศรษฐกิจ สิ่งที่ควรทำ คือ ปรับโครงสร้างหนี้เป็นรายบุคคลมากกว่าที่จะทำทั้งระบบ”
“นโยบายตามป้ายเชื่อถือไม่ได้นะครับ เกษตรกรต้องพึ่งตนเอง ต้องรวมกลุ่มกันเพื่อความอยู่รอด ควรใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการพึ่งตนเอง” บุญมี สุรโคตร สมาชิกวุฒิสภาและแกนนำเกษตรอินทรีย์ กลุ่มข้าวเกษตรทิพย์บอกกับ IDN
ส.ว. บุญมี ได้อธิบายปัญหาของเกษตรกรเพิ่มเติมว่า “แม้ว่าเราจะจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรที่มีสมาชิกมากกว่า 300 คน แต่เราก็ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำได้ ดังนั้น เกษตรกรบางรายจึงต้องกู้ยืมเงินจากธนาคารหรือเงินกู้นอกระบบ แต่เกษตรกรก็มีรายได้น้อยและเป็นหนี้ก้อนโต”
เขายังชี้ให้เห็นด้วยว่า เกษตรกรขายผลผลิตพร้อมๆ กันทั่วประเทศ จึงทำให้ล้นตลาด และรายได้น้อย ขณะที่มีภาระหนี้สินจำนวนมาก ดังนั้น พวกเขาจำเป็นต้องรีบขายผลผลิตเพื่อชำระหนี้”
ในฐานะที่เป็นทั้งสมาชิกวุฒิสภาและเกษตรกร ส.ว.บุญมี ได้เสนอโครงการ ‘เกษตรแปลงใหญ่’ ซึ่งเป็นนโยบายสร้างเครือข่ายให้เกษตรกรจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน “เมื่อก่อตั้งวิสาหกิจแล้ว เกษตรกรสามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมถึงสร้างเครือข่ายกับชุมชนอื่นๆ เพื่อผลิต จำหน่าย และส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้ด้วยตนเอง” ส.ว.บุญมี ระบุ
เกษตรกรบางคนไม่เชื่อมั่นในนโยบายระยะสั้นของพรรคการเมืองที่มักเพิกเฉยต่อความต้องการการพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคการเกษตร
หนิงน้อย เกษตรกรจากจังหวัดศรีสะเกษ บอกกับ IDN ว่า “ไม่มีพรรคการเมืองใดเสนอความช่วยเหลือที่ยั่งยืน” เธอจึงไม่แน่ใจว่าจะลงคะแนนให้พรรคใด “เราต้องยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง ฉันต้องการเปลี่ยนสวนให้เป็นสวนเกษตรอินทรีย์ ที่มีความยั่งยืนและปูทางให้พึ่งพาตนเองได้อย่างแน่นอน แต่ปุ๋ยอินทรีย์ก็มีราคาสูงนิดหน่อย”
ส.ว.บุญมี เห็นด้วยว่าการพึ่งตนเองคือหนทางสู่ความยั่งยืนของเกษตรกร เขาบอกกับ IDN ว่า “เมื่อรัฐบาลชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ ผมจะติดตามและผลักดันการบังคับใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงในภาคเกษตรกรรม” เขาเชื่อว่าชีวิตของชาวนาไม่ได้ขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งแต่ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจแบบพอเพียง [IDN-In Depth News]
หนิงน้อย เกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ